หูดหงอนไก่...ของฝากตัวร้ายที่ติดต่อได้จากเพศสัมพันธ์

 

 โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ที่น่ากลัวไม่ใช่มีแค่ "โรคเอดส์", "โรคซิฟิลิส" และ "หนองใน" เท่านั้น แต่ยังมีอีกหลายโรคที่แม้จะไม่เป็นอันตรายถึงชีวิต แต่ถ้าใครเป็นขึ้นมาก็ทำลายความมั่นใจไปได้มากทีเดียว อย่างเช่น "หูดหงอนไก่" โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ที่ยังพบได้มากในปัจจุบัน แถมยังสามารถกลับมาเป็นได้ซ้ำ ๆ ซึ่งมั่นใจได้เลยว่าไม่มีใครอยากเป็นแน่ ๆ กระปุกดอทคอม จึงขอนำข้อมูลเรื่อง "หูดหงอนไก่" มาบอกกันตรงนี้ค่ะ

ผู้หญิง

โรคหูดหงอนไก่ คืออะไร สาเหตุเกิดจากอะไร


          หูดหงอนไก่ (Condyloma Acuminata) คือ โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ชนิดหนึ่ง เกิดจากการติดเชื้อไวรัสฮิวแมนแปปิโลมาไวรัส (Human Papilloma Virus) หรือ HPV

          ฟังชื่อ HPV อาจจะรู้สึกคุ้น ๆ ว่านี่เป็นไวรัสที่ทำให้เกิดโรคมะเร็งปากมดลูกใช่ไหมนะ ซึ่งก็ถูกต้องแล้วค่ะ เพราะไวรัส HPV ที่ทำให้เกิดหูดนี้เป็นตัวเดียวกับที่ทำให้เกิดมะเร็งปากมดลูกได้เช่นกัน แต่เนื่องจากไวรัส HPV มีหลายสายพันธุ์ จึงทำให้เกิดหูด หรือโรคต่าง ๆ กันไป หากเป็นหูดหงอนไก่ก็อาจจะเป็นสายพันธุ์ 6 หรือ 11 แต่ถ้าใครเป็นหูดหงอนไก่จากไวรัส HPV สายพันธุ์ 16 หรือ 18 ก็มีความเสี่ยงที่จะกลายเป็นมะเร็งปากมดลูกตามมาได้เช่นกัน

          ได้ยินแบบนี้ก็อย่าเพิ่งตกใจไป เพราะจริง ๆ แล้วไม่ใช่ว่าทุกคนที่ติดเชื้อ HPV จะต้องเป็นโรคใดโรคหนึ่ง เพราะแม้ว่าจะได้รับเชื้อนี้แล้ว แต่ร่างกายของคนส่วนใหญ่ราว 80-90% จะสามารถกำจัดเชื้อไปได้เองภายใน 2 ปี ยกเว้นคนที่มีภูมิต้านทานต่ำมาก ๆ เช่น ผู้ป่วยโรคเอดส์ หรือหญิงตั้งครรภ์ ก็จะมีความเสี่ยงในการเป็นโรคเพิ่มขึ้น โดยหลายคนที่ได้รับเชื้อนี้เข้าไปแล้วไม่มีอาการใด ๆ เกิดขึ้น แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าคนอื่นจะปลอดภัยนะคะ เพราะเชื้อในร่างกายคุณยังสามารถถ่ายทอดไปให้ผู้อื่นได้

หูดหงอนไก่ ติดต่อทางไหน


          แม้ "หูดหงอนไก่" จะจัดเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ แต่จริง ๆ แล้วแม้จะไม่มีเพศสัมพันธ์ก็สามารถรับเชื้อนี้เข้าไปได้โดยการสัมผัส เพราะเชื้อเหล่านี้อาจพบได้ตามร่างกาย ผม ซอกเล็บ เครื่องใช้ต่าง ๆ บางคนอาจนำสิ่งของหรือมือที่เปื้อนเชื้อไวรัส HPV มาสัมผัสอวัยวะเพศ ก็สามารถติดเชื้อไวรัสตัวนี้ได้เช่นกัน

          อย่างไรก็ตาม การติดต่อทางเพศสัมพันธ์โดยมีการสัมผัสระหว่างผิวหนังกับผิวหนัง เป็นช่องทางติดต่อที่พบบ่อยที่สุด ส่วนการใช้เครื่องใช้ส่วนตัวร่วมกัน เช่น เสื้อผ้า ผ้าเช็ดตัว สบู่ รวมทั้งการสัมผัสหรือเกา แล้วไปสัมผัสบริเวณอื่น เป็นปัจจัยรองลงมา โดยมีระยะฟักตัวนาน 1-6 เดือน


หูดหงอนไก่ อาการระยะแรกเป็นอย่างไร อันตรายไหม


          อย่างที่บอกไปแล้วว่าคนส่วนใหญ่รับเชื้อนี้เข้าสู่ร่างกายไปแล้วไม่มีการแสดงอาการใด ๆ ออกมา เพราะเชื้อจะสามารถกำจัดออกไปได้เองภายใน 2 ปี แต่ถึงกระนั้นก็ยังมีคนส่วนหนึ่งที่อาจมีอาการออกมาให้เห็นหลังรับเชื้อเข้าไปแล้ว เพราะเชื้อจะเข้าไปรบกวนเซลล์ชั้นล่างสุดของเยื่อบุ ทำให้เซลล์ที่แบ่งตัวออกมาตลอดเวลาเพื่อซ่อมแซมชั้นที่เหนือขึ้นไปมีรูปร่างที่เปลี่ยนไปจนควบคุมไม่ได้ และก็จะเกิดเป็นเนื้องอกนูนออกมา อย่างที่เรียกว่า "หูดหงอนไก่" โดยเฉลี่ยจะแสดงอาการออกมาหลังได้รับเชื้อแล้ว 3-4 เดือน

          อาการเริ่มแรก ผิวหนังจะเริ่มเป็นผื่นสีออกน้ำตาลไปทางชมพู เมื่อผื่นมีขนาดใหญ่จะมีสีน้ำตาลนูนหนาขึ้น จากนั้นจะมีหูดที่มีลักษณะเป็นก้อนเล็ก ๆ จนถึงก้อนโตจนอุดกั้นช่องคลอด ทวารหนัก หรือท่อปัสสาวะเลยก็ได้ บางรายอาจมีเลือดออกมาจากก้น คัน มีการตกขาวผิดปกติ รวมทั้งแสบร้อนที่อวัยวะเพศ

          จุดสังเกตที่ทำให้วินิจฉัยได้ว่าเป็น "หูดหงอนไก่" ก็คือ หูดจะมีลักษณะคล้ายดอกกะหล่ำ หรือแบบหงอนที่หัวไก่ชน เป็นติ่งเนื้ออ่อน ๆ สีชมพู บางคนอาจมีตุ่มนูนเล็ก ๆ แห้ง ๆ คล้ายมีขี้ไคลคลุม บางคนอาจเป็นตุ่มนูนแบน และตุ่มนูนเล็ก หรือมีหลายชนิดปนกัน มีขนาดแตกต่างกัน การเรียงตัวอาจติดกัน หรือการกระจายตัวไปทั่ว
 

หูดหงอนไก่ ยารักษามีอะไรบ้าง


          โรคนี้ไม่ได้เป็นอันตรายถึงชีวิต แต่ก็ทำลายความมั่นใจของคนที่เป็นได้มากทีเดียว ดังนั้นจึงต้องรักษา ซึ่งอาจจะหายขาด หรือกลับมาเป็นซ้ำก็ได้ หากไปติดเชื้อซ้ำจากคู่นอน หรือการเกิดรอยโรคจากเชื้อในร่างกายตนเองที่เพิ่งก่อให้เกิดรอยโรค

          มาดูวิธีการรักษากัน...วิธีการรักษามีหลายทาง โดยหากเป็นหูดขนาดเล็กจะรักษาได้ง่ายกว่า ใช้เพียงยารักษาก็ช่วยได้แล้ว ยาที่แพทย์จะใช้รักษาหูดหงอนไก่ มีดังนี้

          1. โพโดฟีโลทอกซิน (Podophylotoxin) เป็นยาทาที่จะช่วยไปยับยั้งการแบ่งตัวของเซลล์ แต่ก็มีผลข้างเคียงคือ อาจทำให้ผิวหนังระคายเคือง เป็นแผล และปวด หากเข้าสู่กระแสเลือดอาจทำให้เส้นประสาทอักเสบ ชาตามตัว เม็ดเลือดขาวต่ำ และเกล็ดเลือดต่ำได้ โดยยานี้ต้องให้แพทย์เป็นผู้ทาให้ตามเวลานัด

          2. ไตรคลอโรเซติกแอซิด 80-90% (Trichloroacetic acid; TCA) มีฤทธิ์ทำให้โปรตีนในเซลล์เสื่อมสภาพเป็นเซลล์ตาย ทำให้หูดที่มีก้านหลุดออกไปได้ภายใน 2-3 วัน แต่อาจมีผลข้างเคียงทำให้ผิวหนังระคายเคือง มีเลือดออกได้ ยาชนิดนี้ก็ต้องให้แพทย์เป็นผู้ทาให้เช่นกัน

          3. อิมิควิโมด 5% (Imiquimod/Aldara) ผู้ป่วยสามารถใช้ยานี้ทาได้เอง โดยยานี้จะเข้าไปกำจัดไวรัส HPV ในร่างกาย แต่ใช้แล้วอาจเกิดผื่นได้เฉพาะที่ขึ้นเป็นผลข้างเคียง

          4. โพโดฟิลอก 0.5% (Podofilox) ยานี้จะเข้าไปยับยั้งการแบ่งเซลล์ สามารถใช้ทาได้เองเช่นกัน ผลข้างเคียงคืออาจทำให้เกิดระคายเคืองได้

          อย่างไรก็ตาม ก่อนทายาทุกครั้ง ผู้ใช้ยาควรปัสสาวะให้เรียบร้อยก่อนเสมอ เพราะหลังจากทายาแล้วไม่ควรให้รอยทายาโดนน้ำอย่างน้อย 4-6 ชั่วโมง 

          ทั้งนี้ หากทายาแล้วอาการยังไม่ดีขึ้น แพทย์อาจใช้วิธีการจี้เย็น จี้ไฟฟ้า เลเซอร์ หรือผ่าตัดหูดออก ส่วนหญิงมีครรภ์ หากเป็นหูดหงอนไก่อยู่ด้วย หูดจะขยายตัวเร็วมาก เพราะเป็นช่วงที่มีเลือดมาเลี้ยงมาก ดังนั้น ต้องรีบรักษาแต่เนิ่น ๆ แต่ถ้าพบตอนคลอด แพทย์จะผ่าคลอดทางหน้าท้องให้แทนการคลอดตามธรรมชาติ

หูดหงอนไก่ ผู้หญิง หรือ ผู้ชาย ใครเสี่ยงกว่ากัน

โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์

          หากนับเอาเฉพาะการติดโรคจากเพศสัมพันธ์ จากข้อมูลปัจจุบันพบว่า มีหญิงชายวัยเจริญพันธุ์ราว 1 เปอร์เซ็นต์ เป็นหูดหงอนไก่ โดยส่วนใหญ่จะเกิดในผู้หญิงมากกว่า เพราะอวัยวะเพศของผู้หญิงจะมีซอกหลืบ และมีความชุ่มชื้นค่อนข้างมาก ส่วนใหญ่จะพบที่ปากช่องคลอด ผนังช่องคลอด ปากมดลูก ทวารหนัก และฝีเย็บ

          ขณะที่ผู้ชายอาจพบได้น้อยกว่า เพราะอวัยวะเพศไม่มีซอกหลืบมากนัก หากพบก็จะพบที่บริเวณรอยต่อระหว่างส่วนหัวและส่วนตัวขององคชาต ส่วนที่อยู่ใต้หนังหุ้มปลายท่อปัสสาวะและอัณฑะ ซึ่งหากผู้ชายได้รับเชื้อมาแล้วก็สามารถถ่ายทอดต่อไปให้คู่นอนได้เช่นกัน

          ทั้งนี้ ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดการติดเชื้อในผู้ชายได้ เช่น การขริบหนังหุ้มปลายอวัยวะเพศ รวมทั้งการมีเพศสัมพันธ์แบบชายรักชาย ซึ่งจะทำให้เกิดหูดหงอนไก่รอบทวารหนักได้มากกว่าคนทั่วไป และถ้าเกิดเป็นขึ้นมาแล้วละก็ ต้องทำใจไว้เลยว่า หูดหงอนไก่ในทวารหนักนั้นรักษายากมาก และแม้จะรักษาให้หายแล้วก็สามารถกลับมาเป็นได้อีก ที่สำคัญการรักษาหลาย ๆ ครั้งก็จะยิ่งทำให้ทวารหนักตีบ และมีปัญหาการขับถ่ายตามมาได้ด้วย หรือหากใครมีก้อนหูดอยู่ลึกมาก แพทย์อาจต้องผ่าตัดรักษาให้ เพราะอาจทำให้ท้องผูก หรือมีเลือดออก

หูดหงอนไก่ ป้องกันได้ด้วยวิธีไหน


          หลายคนอาจจะคิดในใจว่า ในเมื่อหูดหงอนไก่เป็นโรคที่ติดต่อกันทางเพศสัมพันธ์ ดังนั้นวิธีการที่ดีที่สุดก็คือ การไม่มีเพศสัมพันธ์ตลอดชีวิตใช่ไหมล่ะ ความคิดนี้ก็ถูกต้องครึ่งหนึ่งค่ะ เพราะจริง ๆ แล้วแม้จะไม่มีเพศสัมพันธ์ แต่หากมีการสัมผัสอวัยวะเพศภายนอกอย่างรุนแรงด้วยวัตถุหรืออวัยวะที่มีเชื้อไวรัส HPV ตัวนี้อยู่ ก็ทำให้เกิดโรคนี้ได้เช่นกัน

          แล้วการใส่ถุงยางอนามัยล่ะจะช่วยป้องกันโรคนี้ได้หรือไม่ ? คำตอบก็คือ แม้ถุงยางอนามัยจะช่วยป้องกันโรคเอดส์ หนองใน ได้ทางหนึ่ง แต่สำหรับโรคหูดหงอนไก่อาจจะช่วยป้องกันไม่ได้เท่าไรนัก เพราะเชื้อ HPV นี้จะกระจายอยู่ทั่วบริเวณ ทั้งทวารหนัก ฝีเย็บ หัวเหน่า ฯลฯ ซึ่งเป็นบริเวณที่ถุงยางอนามัยไม่ครอบคลุมนั่นเอง ฉะนั้นแล้วหากมีเพศสัมพันธ์กับคนที่มีเชื้อนี้อยู่ในตัวก็ถือว่าเสี่ยงต่อการเป็นหูดหงอนไก่ได้เช่นกัน

          เมื่อเป็นแบบนี้แล้ว วิธีการที่จะป้องกันที่ดีที่สุดคือการฉีดวัคซีนที่สามารถลดการเกิดโรคหูดหงอนไก่ได้ แต่ผู้ที่จะฉีดนั้นต้องไม่เคยติดเชื้อมาก่อน โดยวัคซีนนี้จะมาในรูปร่วมกับวัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูกในเข็มเดียวกัน ไม่มีการทำวัคซีนแยกออกมา เป็นวัคซีนชนิด 4 สายพันธุ์ ได้แก่ สายพันธุ์ 6, 11, 16 และ 18

ถ้าตัวเองหรือคู่นอนเป็นหูดหงอนไก่ จะทำยังไงดี


          อันดับแรกคงต้องคุยกันแบบเปิดใจเลยว่าตัวเองเป็นอะไร เพื่อที่อีกฝ่ายจะได้ทราบว่าตัวเองอาจจะรับเชื้อเข้าไปแล้วก็ได้ แต่เชื้อนั้นอาจไม่ได้แสดงอาการใด ๆ ออกมา หากเป็นคนที่ภูมิต้านทานดี เชื้อเหล่านี้ก็จะถูกกำจัดให้หมดไปได้เอง อย่างไรก็ตาม ในช่วงนี้ต้องหลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์เสียก่อนจนกว่าจะรักษาให้หายดีแล้ว และต้องหมั่นตรวจอวัยวะเพศของตัวเองเพื่อหารอยโรค หรืออาจไปพบแพทย์ เพื่อให้ตรวจหาหูดหงอนไก่และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ชนิดอื่นด้วย

          โดยเฉพาะคุณผู้หญิง หากเป็นหูดหงอนไก่ แม้จะรักษาให้หายแล้วก็ควรไปตรวจแปปสเมียร์เป็นประจำ ปีละครั้งอาจจะไม่พอ เพื่อดูว่าเสี่ยงต่อการเป็นโรคอื่น ๆ ด้วยหรือไม่ หากเป็นจะได้รีบรักษาแต่เนิ่น ๆ

          จากข้อมูลที่นำมาบอกกันคงพอจะเข้าใจได้ว่า "หูดหงอนไก่" ไม่ใช่โรคอันตราย แต่ก็สร้างความลำบากในการรักษาอยู่ไม่น้อยหากเป็นขึ้นมา แถมยังสามารถกลับมาเป็นซ้ำได้อีกเรื่อย ๆ นี่จึงเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อีกโรคหนึ่งที่พบได้บ่อยเกือบจะที่สุดในปัจจุบันเลยทีเดียว


ขอบคุณข้อมูลจาก

คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล


ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

รวม สูตรกาแฟสด ยอดฮิต อร่อยจึ้งเหมือนซื้อที่ร้าน!

มัดรวม เมนูกาแฟดำน้ำผลไม้ สดชื่นซาบซ่า แคลน้อย

แจกสูตร 8 ขนมจากโยเกิร์ต ไขมันต่ำ ทำง่าย สายคลีนเลิฟ

ข้าวยำไก่แซ่บ

แจกสูตร หมี่กะทิโบราณ (สูตรภาคกลาง)

สาคูเปียกลำไย

ข้าวเหนียวหน้าไข่แมงดาเทียม

วิธีทำ ไข่ลวก ไข่ลวกร้านกาแฟ แบบมืออาชีพ ไข่ขาวสุกอร่อย ไม่ติดเปลือก

ไก่กรอบซอสมะนาว

แจกฟรีสูตร แกงฮังเล